“วิลาสินี ภาณุรัตน์” นั่งแท่นผู้บริหารหญิงคนแรกของ บาจา ประเทศไทย พร้อมรุกตลาดรองเท้าคุณภาพมีสไตล์
ดันแพลตฟอร์ม Omni Channel เต็มสูบ ขยายฐานลูกค้าใหม่
บาจา (Bata) พร้อมรุกตลาดรองเท้า หลังสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ส่อทิศทางเชิงบวก ย้ำภาพความเป็น แบรนด์รองเท้าสวมใส่สบายแต่มีสไตล์ ในราคาที่จับต้องได้ ตามแนวทางของแบรนด์ในระดับสากลที่ก่อตั้งมานานกว่า 128 ปี ยึดมั่นแนวคิด Survival of the Fittest รุกแพลตฟอร์ม Omni Channel เชื่อมโยงประสบการณ์ผสานออนไลน์&ออฟไลน์ มัดใจลูกค้าฐานเดิม พร้อมขยายฐานใหม่ มุ่งสู่ความเป็นรองเท้าที่ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทุกเพศทุกวัย พร้อมดัน “วิลาสินี ภาณุรัตน์” นั่งแท่นผู้บริหารหญิงคนแรกของ บาจา ประเทศไทย
ท่ามกลางความท้าทายที่คาดไม่ถึง ทั้งการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด-19 และโจทย์ของแบรนด์บาจาที่ผูกพันกับผู้บริโภคมานาน แต่ต้องการก้าวข้ามภาพจำเดิม มาสู่แบรนด์รองเท้าคุณภาพที่มีสไตล์ สวมใส่ได้ทุกวัน วิลาสินี ภาณุรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บาจา (ประเทศไทย) จำกัด จึงเป็นผู้หญิงคนแรกที่มารับหน้าที่เป็นหนึ่งใน คีย์โกรทไดร์ฟเวอร์ (Key Growth Driver) ของบาจา ประเทศไทย โดยเผยถึงทิศทางต่อไปของบาจา ประเทศไทย หลังผ่านวิกฤติโควิด-19 ว่า “บาจา เป็นแบรนด์รองเท้าที่อยู่คู่คนไทยมา 90 กว่าปีแล้ว เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก
แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับพฤติกรรมการสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมือนเดิม บาจาจึงต้องการสร้างภาพจำใหม่ให้ชัดเจนมากขึ้น นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแคมเปญ Surprisingly Bata ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2564 แต่บาจาจะมาสานต่อแคมเปญนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงปลายปี 2565 นี้ ด้วยวิสัยทัศน์ของบาจาประเทศไทย คือ การนำแบรนด์ดีเอ็นเอที่มีความสบายอย่างมีสไตล์ Comfort with Style มาถ่ายทอดสื่อสารแบบใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากฐานลูกค้าเก่าที่มีอยู่กว่า 2 ล้านคนในประเทศไทย ให้มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคุณแม่ และกลุ่มคนเจน X-Y ซึ่งเป็นแฟนของแบรนด์อย่างเหนียวแน่น
แต่ความตั้งใจของบาจา เราต้องการขยายฐานเข้าไปสู่คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้นึกถึง หรือยังไม่ได้เลือกสวมใส่บาจามาก่อน ซึ่งบาจามีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี เพียงแต่แบรนด์ยังต้องสื่อสารเชิงลึกไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ให้มากขึ้น”
“ต้องยอมรับว่านับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของวิกฤตโควิด-19 ในไทย แม้ว่าบาจาจะสามารถสร้างยอดขายได้หลักพันล้านบาท แต่ก็เป็นรายได้ที่ลดลงกว่า 38% เนื่องจากบาจาได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์โดยตรง แต่ในปีนี้ 2565 สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทำให้นับตั้งแต่ช่วงเมษายน 2565 เป็นต้นมา ทุกอย่างกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้บริโภคและลูกค้ากลับมาจับจ่ายภายในช็อปบาจาได้ตามปกติ ทำให้ยอดขายของบาจากลับมาเติบโตถึงกว่า 70% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รวมถึงช่องทาง Online Sales ของบาจาที่มีการบุกตลาดอย่างจริงจัง ส่งผลให้ยอดขายมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง”
“ปัจจุบันตลาดและผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีนี้ นั่นทำให้เรามองว่าทิศทางทางการตลาดและการทำงานต่อไปของแบรนด์นั้น ผู้อยู่รอดคือผู้ที่ปรับตัวได้เร็วที่สุด (Survival of the Fittest) เตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงแบบทันท่วงที ต้องบริหารจัดการให้พร้อมที่จะเรียนรู้ใหม่เสมอ” ผู้บริหารหญิงแกร่งอย่าง วิลาสินี กล่าวเสริม
จากทิศทางการตลาดที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้บาจามีความมั่นใจในการนำสินค้าใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้อย่างเต็มที่ โดยบาจาในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 เตรียมปล่อยคอลเล็กชั่นใหม่ออกมาอีกหลายไลน์สินค้าในทุกหมวด พร้อมกับการรุกตลาดที่มีความเข้มข้นและหลากหลายมากขึ้น ทั้ง CRM Loyalty Campaign และ Omni Channel Strategy ผสมผสานช่องทางการขายเข้าด้วยกัน เพื่อมอบประสบการณ์การซื้อให้กับลูกค้าอย่างดีที่สุด
“เรามีการใช้ดาต้าลูกค้าที่มีอยู่มาทำ CRM Loyalty Campaign ให้มากขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าประจำ ขณะเดียวกันก็จริงจังในการสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มใหม่ ผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ตามกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเชื่อมประสบการณ์ของลูกค้าทั้งเก่าและใหม่แบบไร้รอยต่อ ผ่าน Omni Channel Strategy ของเราด้วยระบบ Automation Tools ต่าง ๆ ซึ่งกลยุทธ์นี้จะเร่งทำให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน”
ปัจจุบันบาจามีช่องทางการจัดจำหน่ายทางหน้าร้านของตัวเอง 229 ร้าน ร้านแฟรนไชส์ 6 ร้าน ผ่านทางช่องทางออนไลน์จาก bata.co.th รวมถึงช่องทางอี-มาร์เก็ตเพลส ซึ่งบาจามี Official Stores ทั้งบน Lazada และ Shopee ทำให้คาดว่าสิ้นปีนี้บาจาจะเติบโตเกิน 65% เทียบจากปีที่แล้ว พร้อมตั้งเป้าเติบโตอย่างต่อเนื่องจากทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ จากแคมเปญล่าสุด และการบุกช่องทางขายครบวงจรในปีหน้าอีกแน่นอน
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามสินค้าได้ที่ร้านบาจา หรือทางเว็บไซต์ https://www.bata.co.th/และห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ