สายไอทียกทัพอัปเดตเทรนด์ในงาน HACKaTHAILAND 2023: DIGITAL INFINITY มหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัล จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2566 ณ Plenary Hall 1-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) โดยในพิธีเปิดงานได้รับเกียรติจาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดงาน โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า ให้การต้อนรับ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ทุกโครงการในกิจกรรมวันนี้ได้คุยกับ ผศ.ดร.ณัฐพล มาโดยตลอดจนเกิดเป็นโครงการต่างๆ โดยภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา อาทิ ด้านการท่องเที่ยว ประสานกับสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในการนำระบบดิจิทัลแฟลตฟอร์มไปใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึง E-Commerce กลุ่มค้าขายออนไลน์กับการซัปพอร์ตด้านแฟลตฟอร์มมีระบบส่งเสริมการขายออนไลน์ รวมถึง Smart School Bus ระบบรถโรงเรียน ติดเซนเซอร์ในรถ เพื่อป้องกันการลืมเด็กทิ้งไว้ในรถ ซึ่งเป็นการทำโครงการร่วมกับรถรับส่งนักเรียน 3,000 คัน รวมถึง Smart City พัฒนาระบบโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะ รวมทั้งอบรมคนรุ่นใหม่ให้ทำงานร่วมกับท้องถิ่นเพื่อสร้าง Smart City โดยทุกโครงการที่เกิดขึ้นนอกจากเป็นงบประมาณของดีป้าแล้ว ยังได้งบจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งกระทรวงดิจิทัล ทำให้เกิดกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ และดีป้าก็เกิดตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน และล่าสุดจัดทำมาตรการบัญชีดิจิทัล โดยธุรกิจสตาร์ตอัปที่มาขึ้นทะเบียนกับดีป้า อยู่ในบัญชีบริการดิจิทัล จะมีแต้มต่อในการทำธุรกิจกับภาครัฐและเอกชน หาลูกค้า หางานได้ง่ายขึ้น เติบโตได้ดีขึ้น ส่งเสริมเรื่องภาษี รวมทั้งมี พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมออนไลน์ ตรวจสอบบัญชีม้า การโอนเงินที่มีความผิด ติดตามอายัดบัญชีให้เร็ว
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า เผยว่า ดีป้า เป็นหน่วยงานภายใต้พระราชบัติญัติกระทรวงดิจิทัลและสังคม และมีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำแผนส่งเสริมด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แผนฉบับนี้เป็นแผนในสมัยท่านรัฐมนตรีดีอีเอส ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ที่ได้ผ่านการเห็นชอบแล้ว และมีเป้าหมายในการส่งเสริมอยู่หลักๆ 4 ประเด็น คือ 1. จะทำอย่างไรให้คนไทยทั้งหมด 67 ล้านคน มีความรู้ความเข้าใจรู้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 2. จะทำอย่างไรให้มีอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัลเกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลเซอร์วิส ดิจิทัลคอนเทนต์ ซอฟต์แวร์ที่กำลังจะกลายเป็น High Value Software ฮาร์ดแวร์ที่จะต้องปรับเปลี่ยนมาเป็น Smart Device หรือ Automation หรือ Robotic รวมถึงการรวมกลุ่ม telecommunication ที่เรียกว่า 5G communication 3. การส่งเสริมเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้น สามารถส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม ภาควัฒนธรรม และภาคความมั่นคงของประเทศ และสุดท้ายการดำเนินงาน ทั้งหมด ต้องอยู่ภายใต้การพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในอดีตรัฐบาลได้ดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น Submarine Cable ที่เชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีน การลงโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า 47,000 หมู่บ้านทางด้าน free internet WIFI เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหลังจากดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานแล้วจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง และการวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่ออนาคต ซึ่งในแผนฉบับที่ 2 นั้น ได้รับการเห็นชอบและได้รับการดำเนินการแล้ว ทำให้เกิดตัว National Platform ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Big data การนำไปใช้ประโยชน์ของภาครัฐบาลและภาคเอกชน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาโครงสร้างที่เรียกว่า Artificial Intelligence as service ซึ่งต้องมาคู่กับ Blockchain as service
“จากแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในการดำเนินงานระยะเวลา 12 เดือน ที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมกำลังคน โดยมีการอบรมในรูปแบบ open Platform ให้คนที่อยู่ในระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา บุคคลทั่วไป เข้าเรียน รวมถึงผลักดันวิชาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น game developer การเพิ่มคนในสายทำงานอุตสาหกรรมดิจิทัล ในการ Reskill จากสายสังคมศาสตร์สู่สายเทคโนโลยี ในโครงการดังกล่าว ยังมีการต่อยอดสู่กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มคนที่ตกงานและต้องการปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนใช้ดิจิทัลเพื่อประกอบธุรกิจ หรือแม้แต่ start up รุ่นใหม่ วันนี้ทาง Depa เอง ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงดีอีเอส มี start up เกิดขึ้นและอยู่ภายใต้การดูแลของดีป้า ประมาณ 150 ราย คิดเป็นมูลค่า 5 พันล้านบาท และมีอยู่ 5 ราย ที่เข้าไปอยู่ในกลุ่ม selling A มีมูลค่าเกินหนึ่งพันล้านบาท ทั้งนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ อย่าง อุตสาหกรรมเกม มีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจาก game developer ในเมืองไทย ประมาณ 30% ที่เหลือเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นดีป้ามุ่งขยายผู้สร้าง game developer และ Eco System ในเมืองไทย เพื่อดันให้อุตสาหกรรมเกมเติบโตขึ้นเป็น 5 หมื่นล้านบาท และ 1 แสนล้านบาทในอนาคต” ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว
สำหรับการจัดมหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัล HACKaTHAILAND 2023: DIGITAL INFINITY ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เผยถึงความสำเร็จว่า
“เป็นกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการ HACKaTHAILAND ในปีนี้ได้มีการรวบรวมเทคโนโลยีรอบตัว เพื่อเปิดประสบการณ์ด้านดิจิทัลให้แก่ภาคประชาชน บนพื้นที่จัดแสดงรวมกว่า 6,400 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 5 โซน ประกอบด้วย ZONE FUTURE, ZONE COMMERCE, ZONE TOURISM, ZONE CONTENT และ ZONE WELL-BEING สำหรับในโซน COMMERCE ได้มีกิจกรรมต่อยอดโครงการ “แพลตฟอร์ม CONNEXION” หนึ่งในโครงการสำคัญประจำปี 2566 ของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับองค์ความรู้ พัฒนาทักษะชุดใหม่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ประชาชนไทย โดยเฉพาะผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานให้มีความพร้อมต่อการประกอบอาชีพใหม่ในยุคดิจิทัลที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทยอย่าง ดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และดิจิทัลอินฟลูเอนเซอร์ผ่านการเรียนการสอนบนแพลตฟอร์ม CONNEXION (https://www.depaconnexion.com) โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 60,000 ราย และยังจับมือกับอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังอีกมากมายมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรม E-Commerce อีกด้วย”
ทั้งนี้ในส่วนของกิจกรรมต่อยอดดังกล่าวได้จัดเวทีให้กับผู้เข้าร่วมโครงการได้แสดงศักยภาพทางความคิด และผลงานอันโดดเด่นด้วยการจัดแข่งขันสำหรับอินฟลูเอนเซอร์และดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ของไทย ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 280,000 บาท และต่อยอดสู่การจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการกว่า 50 ราย ภายใต้ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายของดีป้า อาทิ บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน), บริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จํากัด (มหาชน), บริษัท เทลสกอร์ จำกัด และ บริษัท เทค อี-บิสสิเนส เซ็นเตอร์ จำกัด ฯลฯ เพื่อเฟ้นหาตำแหน่งงานสาย Influencer และ Content Creator ภายในโซน Job Village
นอกจากนี้ยังได้เปิดตัว “eTailligence Platform” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ CONNEXION โดย ดีป้าได้รวบรวม Big Data ด้าน E-commerce แห่งแรกของไทย ช่วยให้ผู้ประกอบการ หรือ แบรนด์สินค้าที่ขายบนโลกออนไลน์ สามารถวิเคราะห์ความสนใจ ความรู้สึก และความพึงพอใจของผู้บริโภคจากเครื่องมือบนแพลตฟอร์ม ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น
ซึ่งบนแพลตฟอร์มนี้จะมีเครื่องมือให้ใช้งานอยู่ 3 ตัว ได้แก่
1. Market Analysis: ข้อมูลภาพรวมตลาด E-Commerce แบ่งตาม Category ของสินค้าที่ขายในช่องทางออนไลน์โดยเก็บข้อมูลจาก Marketplace Platform ในประเทศไทย
2. Shop Analysis: ข้อมูลของร้านค้าออนไลน์ที่รวบรวมจาก Marketplace Platform ต่างๆ ที่ร้านค้าใช้รวบรวมและวิเคราะห์เอาไว้ในที่เดียว
3. Competitive Analysis: ข้อมูลการวิเคราะห์คู่แข่งในกลุ่มสินค้าประเภทเดียวกัน
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจใช้แพลตฟอร์ม eTailligence ในการเป็นเครื่องมือเพื่อวางแผนการตลาดออนไลน์ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและขอทดลองใช้งานได้ที่ www.etailligence.com หรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อผ่านทาง LINE Offical account ที่ @etailligence